วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ท่านคือทูตของเรา

ท่านคือทูตของเรา


                                                                       คุณพ่อวัชศิลป์ กฤษเจริญ

สวัสดีครูคำสอน เพื่อนผู้ร่วมงานในพระคริสตเจ้าทั้งมือเก่าและมือใหม่ทุกคน

        วันนี้พ่อได้มีโอกาสมาเยี่ยม “ครูไก่” กับ “ครูจอย” เพื่อนครูคำสอนจากโคราชและราชบุรีที่กำลังศึกษาวิชาคำสอนที่มหาวิทยาลัยอู ร์บานีอานา นครรัฐวาติกัน อิตาลี และได้พักอยู่ที่นี้สี่วันหลังจากการประชุมผู้อำนวยการองค์กรสนับสนุนงาน แพร่ธรรมของสันตะสำนัก(PMS) ระหว่างวันที่ 13-21 พ.ค. 2010 เสร็จสิ้นลง
        ทราบดีว่าหลายคนคงได้รับหน้าที่ให้เป็นครูสอนคำสอนตามเดิม ส่วนอีกหลายคนคงเพิ่งได้รับหน้าที่ใหม่ อย่างไรก็ตาม เพื่อนครูคำสอนหลายคนยังคงมีความสับสนหรือไม่มั่นใจกับงานการเป็นครูคำสอน ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อจะได้เป็นครูคำสอนที่ดี (เอาเป็นว่าแค่ดีไม่ต้องถึงกับยอดเยี่ยมก็พอแล้ว)
          ดังนั้นจึงอยากจะให้ “กำลังใจ” ครูคำสอนทุกคน และอยากจะให้ “ข้อแนะนำ” บางประการเพื่อการเป็นครูคำสอนที่ดี อย่างน้อยในปีนี้ เพื่อนๆจะได้รับใช้พระเจ้าด้วยความมั่นใจและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
          นี่เป็นจุดประสงค์ของการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนครูคำสอนทุกคน ขอให้ติดตามไปเรื่อยๆก็แล้วกัน
ขอเริ่มจาก “กระแสเรียก” การเป็นครูคำสอนก่อน
         ต้องบอกว่าการทำงานคำสอนนี้ “ใจ” ต้องมาก่อน งานการสอนคำสอนเป็นงานที่ต้องอาศัย “ใจรัก” และ “ศรัทธา” พูดอย่างนี้หลายคนอาจจะขอถอนตัวหรือท้อใจ...แต่อย่าเพิ่ง...อ่านต่อไปก่อนก็แล้วกัน
เพื่อนๆรู้ประวัติของ “ยอห์นบัปติส” ดีแล้วใช่ไหม พวกเราชื่นชมความเข้มแข็งในการทำหน้าที่ของท่านใช่ไหม พวกเราเคยคิดไหมว่าทำไมพระเยซูเจ้าจึงทรงเรียกท่านยอห์นบัปติสว่าเป็น ประกาศก “ผู้ยิ่งใหญ่” ท่านยอห์นทำงานอะไรจึงได้รับเกียรติจากพระเยซูเจ้ามากเช่นนี้ คำตอบก็คือ...ท่านเป็นผู้ “เตรียมจิตใจ” ประชาชนเพื่อการรับเสด็จองค์พระผู้เป็นเจ้านั้นเอง

         เพื่อนๆ ครูคำสอนทุกท่านก็คือ ผู้ที่เตรีมจิตใจของเด็กๆเพื่อการรับเสด็จองค์พระเยซูเจ้าเช่นเดียวกันมิใช่ หรือ...ถูกต้องแล้ว...ดังนั้นเพื่อนๆก็มีสิทธิที่จะได้รับชื่อว่าเป็น “ผู้ยิ่งใหญ่” เช่นเดียวกัน คราวนี้เวลาทักทายกันต้องทักว่า...”สวัสดี ประกาศกผู้ยิ่งใหญ่”

          คราวนี้ขอพูดถึงหน้าที่ประกาศกผู้ยิ่งใหญ่กันสักหน่อย คือ หน้าที่การเตรียมจิตใจเพื่อการรับเสด็จองค์พระผู้เป็นเจ้า

         เมื่อมีคนถามพระเยซูเจ้าว่า ยอห์นบัสติส คือใคร พระเยซูเจ้าทรงอ้างอิงพระคัมภีร์จากมาลาคี 3:1 ความว่า “ดูเถิด เราส่งทูตของเราไปเพื่อตระเตรียมหนทางไง้ข้างหน้าเรา” ให้ลองเอาชื่อของเพื่อนๆแต่ละคนใส่ลงไปแทนคำว่า “ทูตของเรา” ดู ซิ แล้วเพื่อนๆจะเห็นว่าเพื่อนแต่ละคนได้มีส่วนร่วมงานอันยิ่งใหญ่ในการเตรียม จิตใจเด็กๆของเราให้พร้อมที่จะต้อนรับองค์พระผู้เป็นเจ้าเช่นเดียวท่านยอห์น บัสติส ยิ่งไปกว่านั้นในหนังสือของมาลาคี “ทูต” ยังเปรียบได้กับไฟที่ใช้เพื่อทำให้โลหะสะอาดบริสุทธิ์ “เพราะ ว่าท่านเป็นประดุจไฟถลุงแร่ และประดุจสบู่ของช่างซักฟอก ท่านจะนั่งลงอย่างช่างหลอมและช่างถลุงเงินและท่านจะชำระบุตรหลานของเลวีให้ บริสุทธิ์ และถลุงเขาอย่างถลงทองคำและถลุงเงินจนกว่าเขาจะนำเครื่องบูชาอันถูกต้องถวาย แด่พระเจ้า” (มาลาคี 3:2-3) มีกลุ่มผู้ศึกษาพระคัมภีร์ของวัดแห่งหนึ่งมีความสงสัยว่าทำไมจึงเปรียบทูต ของพระเจ้าเป็นเหมือนไฟถลุงโลหะเช่นนี้ พวกเขาอยากทราบความหมายที่แท้จริงของคำๆ นี้ดังนั้นจึงชวนกันไปดูโรงงานทำเชิงเทียนแห่งหนึ่ง สิ่งที่พวกเขาสังเกตเห็นก็คือ นายช่างเครื่องเงินถือเชิงเทียนแล้วนำไปลนไฟเป็นระยะๆ พวกเขาจึงถามว่าทำไมต้องทำเช่นนั้น นายช่างตอบว่าเพื่อให้ความร้อนของไฟชำระสิ่งสกปรกต่างๆและทำให้เครื่องเงิน ของเขาบริสุทธิ์ พวกเขาจึงถามต่อไปว่า “เมื่อไรจะเสร็จสิ้นกระบวนการทำงาน และจะรู้ได้อย่างไรว่าเชิงเทียนนี้สำเร็จอย่างสมบูรณ์พร้อมที่นำไปจำหน่ายได้แล้ว” นายช่างคนนั้นยิ้มแล้วตอบว่า “ง่ายนิดเดียวครับ ผมรู้ว่ามันบริสุทธิ์จริงๆเมื่อผมสามารถมองเห็นใบหน้าของผมในเชิงเทียนนี้”แล้วมันเกี่ยวอะไรกับ “พันธกิจของครูคำสอน” 
        ในฐานะครูคำสอน เพื่อนๆเป็นเสมือน “ทูต” ของ องค์พระผู้เป็นเจ้า มีหน้าที่เตรียมจิตใจของเด็กๆที่เพื่อนๆจะต้องทำการอบรมสั่งสอนพวกเขา ช่วยพวกเขาให้เปิดหัวใจรับการชำระด้วยไฟแห่งความรักของพระองค์ ให้หัวใจของพวกเขาได้สัมผัสกับไฟแห่งความรักของพระองค์จนกระทั่งภาพของพระ เยซูเจ้าปรากฏเด่นชัดในหัวใจของพวกเขา การทำให้หัวใจของเด็กๆเป็นภาพสะท้อนของพระเยซูเจ้านี้ นี้แหละเป็นเป้าหมายของการสอนคำสอนของเรา แต่สิ่งที่สำคัญที่เพื่อนๆจะต้องจำใส่ใจไว้ให้ดีก็คือ เราไม่ได้กระทำพันธกิจนี้แต่เพียงลำพังหรือด้วยความสามารถของเราเองเท่านั้น แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกระทำงานนี้โดยผ่านทางตัวของเรา เราเป็นเสมือนช่างทำเครื่องเงินคนนั้น เชิงเทียนเป็นหัวใจของเด็กๆ และภาพที่ปรากฏในเชิงเทียนนั้นคือภาพขององค์พระเยซูเจ้า มิใช่ภาพของตัวเรา

       โปรดฟังอีกครั้ง!! เพื่อนครูคำสอนที่รัก เราเป็นดั่งเช่น ยอห์น บัสติส งานของเราในฐานะครูคำสอน คือ การเตรียมหัวใจของเด็กๆ ให้พร้อมสำหรับการต้อนรับองค์พระผู้เป็นเจ้า เราต้องช่วยให้พวกเขาได้เปิดหัวใจออกรับการชำระจากองค์พระผู้เป็นเจ้าจน กระทั่งภาพขององค์พระเยซูเจ้าทรงปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดในหัวใจของพวกเขา นี้แหละคือเป้าหมายของการสอนคำสอน และเราไม่ได้กระทำหน้าที่นี้ด้วยพลังกำลังของเราเอง แต่องค์เยซูเจ้าเองทรงกระทำโดยผ่านทางตัวของเรา

          สำหรับวันนี้ ขอจบแต่เพียงเท่านี้ ขอให้เพื่อนๆทำงานให้สนุก แล้วจะมีความสุขกับการทำงาน พบกันอีกในฉบับหน้า
ขอพระเจ้าประทานพระพรคุณพ่อวัชศิลป์ กฤษเจริญ
หอพักครูคำสอน วาติกัน : 25 พ.ค. 2010

วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประชาสัมพันธ์



ในโอกาสปีแห่งความเชื่อ ทางชมรมศิษย์เก่า 
จึงได้ถือโอกาสเปิด blog เพื่อเป็นสื่อกลาง ส่งต่อความเชื่อ 
และเป็นเพื่อนร่วมทางกับครูคำสอนไทยทุกท่าน


ดังนั้น ขอเชิญชวนเราร่มกันแบ่งปันโครงการดีดี 
หรือ แบบการจัดนิทรรศการ เกี่ยวกับปีแห่งความเชื่อ 
เพื่อที่เพื่อครูคำสอนจะได้สามารถนำไปใช่ประโยชน์ร่วมกันได้


โดยให้ส่งข้อมูลมาได้ที่

E- mail club.catechesis@gmail.com

ขอบคุณเพื่อนครูคำสอนทุกท่านนะคะ

ใครว่าครูคำสอนไม่สำคัญ ?

ใครว่าครูคำสอนไม่สำคัญ ?
โดย
           หาก “ครู” เป็นบุคคลที่สำคัญรองจากพ่อแม่ในการอบรมสั่งสอนลูกหลานเยาวชน  “ครูคำสอน” ก็เป็นบุคคลสำคัญรองจากพระสงฆ์ และนักบวชในการสอนคำสอนแก่เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่คาทอลิก และผู้สนใจศาสนาคริสต์ของเรา
           ในหนังสือประวัติการเผยแพร่คริสตศาสนาในสยามและลาว บาทหลวงโรแบต์ โกสเต เขียน อรสา ชาวจีน แปลและเรียบเรียง (สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย กรุงเทพๆจัดพิมพ์ พ.ศ.2549/2006 ,725 หน้า) ได้กล่าวถึงครูคำสอนหลายตอน เช่น
           "ในสมัยกรุงศรีอยุธยา    ครูสอนหนังสือและครูคำสอนมักเป็นคนเดียวกัน...    ครูคำสอนในฐานะเป็นผู้ร่วมงานของศาสนบริกรแห่งพระวาจา มีความสำคัญเป็นพิเศษ มีการกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือก พร้อมทั้งภาระหน้าที่  ครูคำสอนต้องได้รับการอบรมจากสามเณราลัย  และจะเลือกผู้ที่เหมาะสมบางคนจากคนเหล่านี้เพื่อบวชเป็นพระสงฆ์" (หน้า 97)
    พระสงฆ์ธรรมทูตสมัยแรกที่พูดภาษาท้องถิ่นยังไม่ได้ " เมื่อพระสงฆ์ออกไปตามที่ต่างๆ จะมีครูคำสอนหนึ่งหรือหลายคนติดตามไปด้วยเสมอ  บางครั้งจะส่งครูคำสอนไปตามลำพัง ชุมชนคริสตังบางแห่งที่ไม่มีพระสงฆ์ประจำอยู่ จะมีแต่ครูคำสอนเท่านั้น…บางครั้งเราไม่ค่อยเห็นความสำคัญ และคุณความดีของครูคำสอน ที่ทำงานประกาศพระวรสาร และอบรมสั่งสอนคริสตัง  ดังนั้น เมื่อเห็นบทบาทของพวกเขาในมิสซัง จึงเห็นว่าจำเป็นต้องอบรมครูคำสอนเหล่านี้อย่างเหมาะสม" (หน้า 434)
    ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) เป็นครูและครูคำสอน 25 ปี ตระหนักดีถึงศักดิ์ศรีของครูคำสอนที่พระเจ้าทรงมอบให้ ข้าพเจ้าประทับใจ บุญราศีสมเด็พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ที่ตรัสถึงบรรดาครูคำสอน ในสมณสาส์นเตือนใจเรื่องการสอนคำสอนในปัจจุบัน ได้กล่าวถึงความสำคัญของครูคำสอนว่าดังนี้ “ ข้าพเจ้าขอกล่าวขอบคุณบรรดาครูคำสอนตามวัดต่างๆ       ทั้งชายและหญิงจำนวนมากซึ่งทำงานอยู่ทั่วโลกและกำลังอุทิศตนเพื่อให้การอบรม ศาสนธรรมรุ่นต่างๆ  งานของพวกท่านดูว่าเป็นงานต่ำต้อยและไม่มีใครเห็น แต่กระนั้นก็ดี ท่านก็ยังทำด้วยความร้อนรนและความยินดี นี่แหละแบบฉบับที่เด่นมากของฆราวาสแพร่ธรรม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับเด็กและเยาวชนที่ขาดการอบรมด้านศาสนา อย่างเหมาะสมในบ้านของพวกเขาด้วยสาเหตุต่างๆมีคริสตชนจำนวนเท่าใดแล้วที่ได้ รับความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคำสอนคาทอลิก การเตรียมตัวรับศีลอภัยบาป ศีลมหาสนิท    ครั้งแรกและศีลกำลังจากครูคำสอน...ข้าพเจ้าร่วมกับการประชุมสมัชชาพระ สังฆราชครั้งที่ 4 มิได้ลืมความสำคัญของท่าน ขอให้กำลังใจแก่พวกท่านในการทำงานเพื่อชีวิตของพระศาสนจักรต่อไป” (สมณสาส์นเตือนใจฯ ข้อ 66)



                 กระแสเรียกของฆราวาสในด้านการสอนคำสอน มาจากศีลล้างบาปได้รับการเสริมพลังด้วยการรับ     ศีลกำลัง พวกเขาจึงมีส่วนร่วมใน       “งานศาสนบริการของพระคริสตเจ้าในฐานะสงฆ์ ประกาศก และกษัตริย์”    นอกเหนือจากกระแสเรียกทั่วไป ให้ทำงานแพร่ธรรมแล้ว   ฆราวาสบางคนได้รับการเรียกเป็นพิเศษให้มาเป็น ครูคำสอน ซึ่งได้รับการเรียกจากพระจิตเจ้ามาสู่พันธกิจของพระศาสนจักรภายใต้การนำของ พระสังฆราช และเป็นผู้ประสานงานอย่างพิเศษกับกิจกรรมแพร่ธรรมของพระศาสนจักร(คู่มือแนะ แนวการสอนคำสอนในประเทศไทย ข้อ 140) ครูคำสอนจึงเป็นผู้ที่ถูกเรียกมาเพื่อร่วมงาน และติดตามองค์พระเยซูเจ้าเปรียบเสมือนเป็นประกาศก ครูและผู้อบรมสั่งสอน ประกาศข่าวดีของพระองค์ (เทียบ Orientamenti e Itinerari di Formazione dei Catechisti หน้า 37) ดังนั้น  “ครูคำสอนเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง และถูกส่งไปจากพระคริสตเจ้า” เพื่อทำงานในท่ามกลางพระศาสนจักร (เทียบ La Formazione di Catechisti nella Comunita Cristiana Orientamenti Pastorali ข้อที่ 12)  ดังนั้นกระแสเรียกของครูคำสอนจึงมีคุณลักษณะ ดังนี้


1.ครูคำสอนคือผู้ที่ได้รับการเรียกจากพระศาสนจักร
              คริสตชนทุกคนได้รับการเรียกตั้งแต่รับศีลล้างบาป ในการทำหน้าที่แพร่ธรรม การเป็นครูคำสอนเป็นการเรียกอย่างหนึ่งที่พระเป็นเจ้าทรงเรียกด้วยความรัก เป็นพระหรรษทานที่พระเป็นเจ้าประทานให้เรา เพราะฉะนั้นครูคำสอนต้องตอบรับการเรียกของพระเป็นเจ้า และรับใช้พระเป็นเจ้าโดยการดำรงชีวิตเป็นพยานถึงพระคริสตเจ้าพระผู้ช่วยให้ รอด ครูคำสอนเป็นผู้สอนและอบรมพี่น้องคริสตชนในความเชื่อโดยการประกาศพระวรสาร (เทียบ Il Rinnovamento della Catechesi ข้อที่ 185) 


2.ครูคำสอนคือผู้ที่ได้รับการเรียกเพื่อประกาศพระวาจาของพระเป็นเจ้า
               ครูคำสอนคือผู้ที่ได้รับการเรียกเพื่อประกาศพระวาจาของพระเป็นเจ้า ครูคำสอนไม่เพียงแต่เป็นผู้ที่ดำรงชีวิตที่สมบูรณ์ในความเชื่อแต่เพียงฝ่าย เดียว แต่ต้องเป็นผู้ให้กับผู้อื่น “ ...จงพร้อมเสมอที่จะให้คำอธิบายแก่ทุกคนที่ต้องการรู้เหตุผลแห่งความหวังของ ท่าน จงอธิบายด้วยความอ่อนโยน และด้วยความเคารพอย่างบริสุทธิ์ใจ...”( เทียบ 1 เปโตร 3: 15-16)
                 การประกาศพระวาจาของพระเป็นเจ้า ก็เป็นการประกาศแผนการแห่งความรอดตามเรื่องราวใน    พระคัมภีร์ ครูคำสอนต้องถ่ายทอดความเชื่อ คือ ข้อความเชื่อ   พระบัญญัติพระเป็นเจ้า  พิธีกรรม  การภาวนาและเป็นพยานแห่งความเชื่อ ความรัก และเมตตาโดยยกตัวอย่างจากนักบุญทั้งหลาย ซึ่งท่านเหล่านั้นได้ดำรงชีวิตเป็นแบบอย่างที่ดีแห่งความเชื่อ  และครูคำสอนเป็นผู้ที่สอนการตีความหมายตามพระคัมภีร์ ซึ่งพระเป็นเจ้าทรงเปิดเผยแก่มนุษย์ เพราะฉะนั้นครูคำสอนเปรียบเสมือนเป็นผู้สอนและผู้อบรมให้กับผู้รับฟังพระ วาจาของพระเจ้า  (เทียบ Formazione Catechista in Italia negli Anni Ottanto หน้า 40,50)


3. ครูคำสอนคือผู้ที่รับใช้และปฏิบัติตามพระวาจาของพระเป็นเจ้า               พระศาสนจักรสอนให้เขากล่าว   พระวาจาแห่งการช่วยให้รอด ถ่ายทอดคำสอนที่ได้รับ ฝากมอบอำนาจที่ได้รับและใช้เขาไปเทศน์สอนมิใช่เรื่องตัวของเขา หรือความคิดส่วนตัวของเขา (เทียบ 2 คร 4: 5) แต่เทศน์สอนพระวาจาซึ่งเขาเองหรือพระศาสนจักรมิใช่นายสูงสุดหรือเจ้าหน้าที่ บ่งการสิ่งใดตามใจชอบ แต่เป็นผู้รับใช้ที่จะถ่ายทอดต่อไปด้วยความซื่อสัตย์ (เทียบ การประกาศพระวรสารในโลกปัจจุบัน ข้อ 15)    พระเยซูเจ้าได้ตรัสว่า “ผู้ใดฟังท่าน ผู้นั้นฟังเรา” (เทียบ ลูกา 10: 16)  และ “มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น แต่ดำรงชีวิตด้วย พระวาจาทุกคำที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (เทียบ มัทธิว 4:4) อย่างไรก็ดี ในการพบปะแต่ละครั้งในกลุ่มผู้เรียนคำสอนกับครูผู้สอนคำสอน ก็เหมือนกับพระเยซูเจ้าทรงเทศนาในโรงธรรมที่นาซาเร็ธ คือ ครูคำสอนต้องเป็นผู้ประกาศข่าวดีให้กับเด็กๆ และกลุ่มผู้เรียนคำสอน  เพราะฉะนั้นสำหรับครูคำสอนควรจะเป็นผู้ที่เรียนรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับพระ วจนะของพระเจ้า เพื่อนำพระวาจาของพระเจ้านั้นเผยแพร่กับคริสตชนต่อไป (เทียบ Il Minister del Catechista หน้า 35-35, 39-41,48)
                 อนึ่ง ในหนังสือคู่มือแนะแนวการสอนคำสอนในประเทศไทย ข้อ 144 ได้กล่าวถึงครูคำสอนว่าเป็น    ศาสนบริกรที่สำคัญของพระศาสนจักรด้วยเช่นกัน   ดังนั้นครูคำสอนจึงควรมีคุณลักษณะ  ดังต่อไปนี้
                 ก. ครูคำสอนจะต้องเป็นผู้มีอุดมคติ ที่ ว่า “การทำให้ชีวิตศักดิ์สิทธิ์ในขณะที่ดำเนินชีวิตเยี่ยงฆราวาส  แพร่ธรรม” (LG 41) ตามหลักการและที่มาของเอกลักษณ์ครูคำสอนคือ“พระบุคคลของพระคริสตเจ้า เอง”       (คู่มือครูคำสอน 20)
                 ข. ตอบรับการเรียกของพระเจ้า ด้วยความเสียสละ และใช้ความสามารถต่างๆ มิใช่เพื่อสอนคำสอนผู้อื่นเท่านั้นแต่เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในด้านความเชื่อ
                ค. ครูคำสอนต้องอุทิศตนเป็นพยานถึงข่าวดีของพระคริสตเจ้า โดยแบ่งปันความเชื่อ ด้วยความเชื่ออย่างมั่นคง ด้วยความรักความยินดี ความกระตือรือร้นและความหวัง “จุดหมายสูงสุด และหัวใจของการฝึกอบรมการสอนคำสอนอยู่ที่ความพร้อมที่จะเรียนรู้ และความสามารถที่จะสื่อสารสารแห่งพระวรสาร” (GDC 235)            สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อครูคำสอนเชื่อในพระวรสาร และถ่ายทอดออกมาด้วยชีวิต
               ง. อุทิศตนเพื่อพระศาสนจักร และรับใช้ชุมชน เพียรพยายามกระทำตนให้เป็นเครื่องมือที่มีคุณภาพของพระเจ้า และเป็นเครื่องหมายถึงการประทับอยู่ของพระจิต
               จ. มีความรู้ ทักษะ และความสามารถ แม้ครูคำสอนจะได้รับการเตรียมอย่างดีในศาสนบริการด้าน         คำสอน แต่ถ้าปราศจากการกระทำของพระจิตเจ้า สิ่งเหล่านี้ก็ไร้ความหมาย
                     ดังนั้น ครูคำสอนจึงควรแสวงหาความรู้จากพระคัมภีร์ ศึกษาพระคัมภีร์เป็นประจำเพื่อให้เกิดทักษะ เป็นผู้นำการแบ่งปันพระวาจา มีจิตภาวนา และเติบโตในความเชื่อตามวัยในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
                     อย่างไรก็ดี ในหนังสือคู่มือการสอนคำสอนในประเทศไทย ข้อ 142-143 ยังได้กล่าวถึงครูคำสอนว่าเป็นบุคคลสำคัญในงานสร้างชุมชนคริสตชนกลุ่มย่อย ช่วยงานคำสอนในเขตวัดและสถาบันการศึกษา  ดังนั้น งานคำสอนและงานอภิบาลจะบังเกิดผลสำเร็จเพียงใด ขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตที่ดีของครูคำสอนมากกว่าวิธีการและสื่ออุปกรณ์ ฉะนั้น การเป็นครูคำสอน หมายถึง
     (1) การตอบรับกระแสเรียกให้เป็น “พยานถึงพระวรสาร” เป็นผู้ร่วมงานในพระคริสตเจ้า
  (2) การตอบรับกระแสเรียกเป็น “ธรรมทูตและผู้ประกาศข่าวดี” โดยร่วมมือและประสานสัมพันธ์ภายใต้สายงานและการแนะนำของผู้รับผิดชอบ
  (3) การมี “ส่วนร่วมรับผิดชอบงานคำสอนผู้ใหญ่ คำสอนเยาวชน คำสอนเด็ก” ทั้งในด้านการอบรม    การเป็นพยานชีวิตศีลธรรมที่ดีงาม และมีชีวิตที่สนิทสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้าในการภาวนา
    (4) ผู้ที่เต็มใจ “อุทิศตนเพื่อพระศาสนจักร” ด้วยความซื่อสัตย์ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า และรับใช้ชุมชน ตามจิตตารมณ์พระวรสาร และได้จำแนกครูคำสอนตามลักษณะงานคำสอนในบริบทของประเทศไทยได้ 3 ประเภท เพื่อให้การอบรม ช่วยเหลือ สนับสนุนให้ครูคำสอนปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังต่อไปนี้
                   
1) ครูคำสอนอาชีพ (Professional/ fulltime Catechists) คือผู้ได้รับการอบรม และสำเร็จการศึกษาจากสถาบันที่พระศาสนจักรรับรองและได้รับการแต่งตั้งจากพระ สังฆราชหรือพระสงฆ์ เพื่อทำงานด้าน    คำสอนเต็มเวลา
 2) ครูคำสอน (Part-time Catechists) คือครู หรือคริสตชนฆราวาสที่ได้รับการอบรมด้านคำสอน ได้รับการแต่งตั้งและได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สอนคำสอนในโรงเรียน หรือวัด 
3) ครูคำสอนอาสาสมัคร (Volunteer Catechists) คือคริสตชนฆราวาสที่อาสาสมัครช่วยงานคำสอนหรือสมาชิกองค์กรคาทอลิกต่างๆ ฆราวาสแพร่ธรรม พลมารี โฟโคลาเร ผู้อ่านพระคัมภีร์ ผู้นำสวดประจำหมู่บ้านในบางสังฆมณฑล ฯลฯ 
                    
 อนึ่ง พระศาสนจักรในประเทศไทย ได้ตระหนักถึงการพัฒนาบุคลากรครูฆราวาส และนักบวช ให้มีโอกาสศึกษาด้านศาสนา และเทววิทยามากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน
                   
 ดังนั้น    สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย      โดยมีคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนก คริสตศาสนธรรมจึงร่วมมือกับวิทยาลัยแสงธรรม ดำเนินการเปิดหลักสูตรคริสตศาสนศึกษาโดยทบวงมหาวิทยาลัยอนุมัติให้ดำเนินการ เปิดหลักสูตรนี้ได้ตั้งแต่ ปีการศึกษา 2543 โดยเป็นหลักสูตร 4 ปี ผู้ที่จบการศึกษาจะได้รับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต คณะศาสนศาสตร์  สาขาวิชาคริสตศาสนศึกษา (Bachelor of Arts: Christian Studies) 


 และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา  มีมติให้รับรองมาตรฐานการศึกษาสาขาวิชานี้ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2545 เป็นต้นมา ดังนั้นจึงเป็นการพัฒนากระแสเรียกการเป็นครูคำสอนให้มีคุณภาพทั้งในด้าน ชีวิตจิตครูคำสอน ความรู้ด้านเทววิทยา ด้านคริสตศาสนธรรม ทักษะและวิธีการสอนในบริบทสังคมไทยด้วย  ซึ่งมีบัณฑิต ครูคำสอน จบการศึกษาไปแล้ว 8 รุ่น จำนวน 110 คน  ซึ่งได้รับใช้พระศาสนจักรท้องถิ่นและส่วนรวมในฐานะฆราวาส นักบวช  จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราต้องช่วยกันเสริมสร้างกระแสเรียกการเป็นครูคำสอน ให้มีคุณภาพและจำนวนมากขึ้น เพื่อรับใช้พระศาสนจักรในประเทศไทยต่อไป  ปัจจุบันมีนักศึกษา ชั้นปี 1-4  จำนวน 93 คน
                    ในบทความนี้ ข้าพเจ้าได้สัมภาษณ์ครูคำสอนจำนวน 5 ท่าน เกี่ยวกับ “เส้นทางกระแสเรียกการเป็นครูคำสอน” เพื่อแบ่งปันชีวิตกระแสเรียกการเป็นครูคำสอนของพวกเขา ในโอกาสนี้ด้วย   


1. อันนา ทิพย์วัลย์  กิจสกุล  อายุ  70 ปี  สอนคำสอน  51 ปี                
 
ปัจจุบัน    เป็นครูคำสอนอาสาสมัคร อัครสังฆมณฑกรุงเทพ สอนคำสอนผู้ใหญ่ที่วัดพระมารดานิจจานุเคราะห์ คลองจั่น (ตั้งแต่ปี 2543 – ปัจจุบัน) สอนวิธีการสอนคำสอนอนุบาล  ที่ศูนย์คำสอนแม่ริม สังฆมณฑลเชียงใหม่ สอนคำสอนกลุ่มชาติพันธุ์ (ผู้ใหญ่และเยาวชน) วัดนักบุญสเตเฟน สังฆมณฑลเชียงใหม่ ร่วมเป็นกลุ่มแพร่ธรรมเคลื่อนที่ออกเยี่ยมตามบ้านของสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี

เส้นทางกระแสเรียกการเป็นครูคำสอน เกิดจากการเห็นแบบอย่างและประทับใจการปฏิบัติตนของบรรดามิชชันนารีที่เสีย สละ อุทิศตนในการสอนคำสอน และช่วยเหลือในยามเดือดร้อน เช่น  พระสังฆราชวังกาแวร์ พระสังฆราชลังเยร์ และ คุณพ่อกูตัง จึงทำให้ตระหนักถึงความรักที่พระทรงมีต่อเรามากมายผ่านทางมิชชั่นนารีเหล่า นี้ จึงพร้อมที่จะประกาศความรักของพระให้โลกรู้ และมีความสุขทุกครั้งที่ได้แบ่งปันความรักของพระให้กับผู้อื่น


2. มาการีตา   กมลา  สุริยพงศ์ประไพ   อายุ   46  ปี  
    สอนคำสอน    19  ปี   
ปัจจุบัน  เป็นครูสอนคำสอนเต็มเวลาที่วัดและโรงเรียนนักบุญเปโตร
ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายจิตตาภิบาล โรงเรียนนักบุญเปโตรอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

เส้นทางกระแสเรียกการเป็นครูคำสอน ก่อนอื่นใด ขอขอบพระคุณพระเจ้า  ที่พระองค์ได้ทรงเลือกข้าพเจ้าให้เป็นครูคำสอน  จากครูคนหนึ่งที่ไม่ได้มีความรู้มากมาย ไม่ได้มีโอกาสได้สอนคำสอน เนื่องจากมีหน้าที่อื่นในโรงเรียนที่ต้องรับผิดชอบ     แต่มีโอกาสได้ช่วยกลุ่มกิจกรรมพลศีล ที่ได้มาเริ่มก่อตั้งเป็นครั้งแรกที่โรงเรียน  กระแสเรียกการเป็นครูคำสอนจึงได้เริ่มต้นอย่างชัดเจน เมื่อมีโอกาสไปศึกษาต่อด้านคำสอนที่กรุงโรม จึงสัมผัสได้ว่าพระทรงเตรียมตัวข้าพเจ้าในหลายๆ ด้านสำหรับงานของพระองค์  เมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็ได้ทำหน้าที่ครูคำสอนเต็มเวลา ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากคุณพ่อเจ้าวัดทุกองค์  มีเพื่อนร่วมงานที่ดี ที่ช่วยกันทำงานในด้านการสอนคำสอนและงานอภิบาลทั้งที่วัดและโรงเรียน  ทำงานกันแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  สิ่งที่ภูมิใจและดีใจก็คือ ได้มีโอกาสทำงานอภิบาลพี่น้อง   คริสตชนในวัดและหมู่บ้านของตนเอง โดยแฉพาะกับบรรดาเด็ก ๆ และเยาวชน ในเรื่องจิตวิญญาณ   เมื่อเราอุทิศตนอย่างเต็มกำลังของเรา เพื่องานของพระองค์แล้ว   พระพรของพระจะเต็มที่สำหรับชีวิตของเราเช่นกัน ชีวิตที่มีความสุข  มีพระพรสู่สมาชิกในครอบครัว   บางครั้งมีปัญหาบ้างแต่ก็มีความมั่นใจอยู่เสมอว่าพระจะทรงดูแลเรา “พระเจ้าทรงบันดาลให้ทุกสิ่งกลับเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่รักพระองค์”  (รม 8:28)  และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ 

3.เปโตร ทรงพล ศรีวิโรจน์  อายุ 53 ปี  สอนคำสอน  14  ปี                
ปัจจุบัน เป็นครูคำสอน โรงเรียนเซนต์โยเซฟเพชรบุรี  สังฆมณฑลราชบุรี
เส้นทางกระแสเรียกการเป็นครูคำสอน           
เริ่มจากการเรียนคำสอน และมีความรักพระตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ ดังนั้นความรักจึงเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า  คือ การสวดภาวนา ร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ อ่านหนังสือศรัทธา  และหนังสือที่ดีที่สุดในชีวิตของผมก็คือพระคัมภีร์ ในชีวิตการเป็นครูคำสอนยังคงมีปัญหาและอุปสรรค ดังนั้นจึงต้องมีความอดทนด้วย และการเป็นแบบอย่างที่ดี (ด้วยความคิด คำพูดและการกระทำ) ความเสียสละ  (ทุกเวลาเช้า เที่ยง เย็น ในวันที่มีเวลาผมต้องหาช่องทางสอนคำสอน เหนื่อยแต่มีความสุข) สิ่งเหล่านี้ช่วยหล่อหลอมทำให้ผมทำหน้าที่ในการเป็นครูคำสอนที่ดี ผมยังคงก้าวเดินต่อไปไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร  ขอฝากไว้กับ องค์พระผู้เป็นเจ้า พระบิดาผู้ใจดี  ขอขอบพระคุณพระเจ้า 




4.ฟิลิป (อัครสาวก) ถาวร กัมพลกูล  อายุ 48 ปี  ทำงานด้านคำสอน  25 ปี   สังฆมณฑลเชียงใหม่ ปัจจุบัน - เป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานแพร่ธรรมสังฆมณฑลเชียงใหม่  ปี พ.ศ. 2539 – ปัจจุบัน  ( ฝึกอบรมด้านคำสอนแก่ครูคำสอน ผู้นำคริสตชนประจำหมู่บ้าน และเยาวชนศูนย์คาทอลิก
 -  สอนภาษาท้องถิ่น (ปกาเกอะญอ) แก่ผู้รับการฝึกอบรมเป็นครูคำสอน  ศูนย์คำสอนสังฆ มณฑลเชียงใหม่ (แม่ริม)  
-  ปี พ.ศ. 2530-2533 เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์คำสอนสังฆมณฑลเชียงใหม่ 
 -  ปี พ.ศ. 2534-2538 เป็นผู้ประสานงานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์สภาพระสังฆราชแห่งประเทศไทย  
 -  ปี พ.ศ. 2539 –2550 เป็นครูผู้สอนพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมที่ศูนย์คำสอนสังฆมณฑลเชียงใหม่ (แม่ริม) 

เส้นทางกระแสเรียกการเป็นครูคำสอน
               ผมเชื่อว่ากระแสเรียกมาจากพระประสงค์ของ พระผู้เป็นเจ้า โดยผ่านทางบุคลลต่าง ๆ อันดับแรกคือบิดามารดาที่อนุญาตให้ผมออกจากหมู่บ้านไปศึกษาที่ศูนย์แม่ปอน ซึ่งมีอายุเพียง 8 ปี  บุคคลต่อมาคือคุณพ่อโยเซฟ เซกีน็อต และคุณพ่อยอห์นบัปติสต์ โบนาต์ ที่คัดเลือกผมไปศึกษาต่อที่เชียงใหม่  และ คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ที่แนะนำให้ไปเรียนต่อที่ศูนย์ฝึกอบรม   ผู้สืบทอดเจตนารมณ์ (ศูนย์คำสอนสังฆมณฑลเชียงใหม่) และจากการศึกษาอบรมเรื่องศาสนา วัฒนธรรม และสังคม มาตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่  ทำให้ผมเห็นว่า สังคมชนเผ่า สังคมชนบท ยังถูกเอารัดเอาเปรียบ     ถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควร ถูกดูถูกเหยียดหยาม ไร้การศึกษา ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ ในฐานะที่ผมได้มีโอกาสได้เรียนหนังสือและพระธรรมคำสอนมากกว่าคนอื่นๆ  ดังนั้นผมจึงเลือกที่จะเป็นครูคำสอนเพื่อการทำงานประกาศข่าวดี หรือ การสอนคำสอน ช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องให้อยู่ระดับที่เหมาะสมกับการเป็นบุตรขององค์พระผู้ เป็นเจ้าอย่างแท้จริง
   
5.มารีอา  กฤติยา อุตสาหะ   อายุ 29 ปี   สังฆมณฑลราชบุรี
ปัจจุบัน  เจ้าหน้าที่ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลราชบุรี  (ตั้งแต่ ปี 2547-ปัจจุบัน)  และกำลังศึกษาต่อด้านงานอภิบาลและงานคำสอนธรรมทูต คณะการแพร่ธรรม มหาวิทยาลัยอูร์บาเนียนา กรุงโรม ประเทศอิตาลี 

 เส้นทางกระแสเรียกการเป็นครูคำสอน
           เริ่มจากพื้นฐานครอบครัวที่แม่พาไปวัดทุกวัน  จึงทำให้มีความผูกพันกับวัดตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก ชอบเรียนคำสอนเพราะรู้สึกว่าเป็นวิชาที่เข้าใจง่าย และมีความสุขทุกครั้งที่ได้เรียน     หลังจากจบมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ก็ได้รับแรงบันดาลใจอยากทำงานคำสอน เพราะคิดว่า ถ้าทำงานด้านนี้ เราก็ได้พูดในสิ่งที่เราเชื่อ ซึ่งเป็นสิ่งอยากทำอยู่ลึกๆในใจ 
              ต่อมาในปี 2543 (ค.ศ. 2000) วิทยาลัยแสงธรรมได้เปิดสาขาศึกษาคริสตศาสนศึกษา     จึงได้รับทุนการศึกษาจากสังฆมณฑลราชบุรี ไปศึกษาในสาขาวิชาฯนี้ ในระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นบัณฑิตครูคำสอนรุ่นแรก  ปี พ.ศ. 2547 และเข้าทำงานที่ศูนย์คริสตศาสนธรรม สังฆมณฑลราชบุรี ฝ่ายงานวิชาการและฝ่ายงานยุวธรรมทูต เป็นเวลา 4 ปีหลังจากนั้นได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดีย ด้านเทววิทยาเบื้องต้น 3 เดือน และไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านคำสอนและการแพร่ธรรมที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2552-2554 และจะกลับมารับใช้พระศาสนจักรในงานคำสอนและการแพร่ธรรม ตามที่ผู้ใหญ่มอบหมายต่อไป 



              จากบทสัมภาษณ์ครูคำสอนเหล่านี้ จะเห็นว่าครูคำสอนแต่ละท่าน ได้รับกระแสเรียกในการเป็น ครูคำสอนที่แตกต่างกันไป  ได้รับแรงบันดาลใจและการสนับสนุนจากครอบครัว บรรดามิชชันนารี พระสังฆราชพระสงฆ์และบุคคลต่างๆ และแต่ละคนก็น้อมรับในการทำหน้าที่ครูคำสอนด้วยใจยินดี  และพร้อมที่จะติดตามพระองค์ตลอดไป แม้ว่าจะมีความยากลำบากบ้าง แต่ก็มีพระเจ้าอยู่เคียงข้างเสมอ ครูคำสอนแต่ละท่านก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ในการประกาศพระวาจาของพระองค์ สอนคำสอน แบ่งปันความเชื่อ ความรักของพระเจ้า เอาใจใส่ด้านจิตวิญญาณ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ช่วยเหลือเพื่อนพี่น้อง ฯลฯ ให้กับคริสตชนและผู้สนใจในชุมชน เขตวัด โรงเรียนและในทุกหนทุกแห่ง ทำงานด้วยความเสียสละ  อดทน เป็นแบบอย่างที่ดี และไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  และก้าวเดินต่อไปเพื่องานของพระองค์เสมอ 



 ข้าพเจ้าขอเป็นกำลังใจให้กับครูคำสอนทุกท่าน ที่ทำหน้าที่ในกระแสเรียกครูคำสอนที่ได้รับด้วยความเสียสละ และขอพระเป็นเจ้าโปรดตอบแทนน้ำใจดีของครูคำสอนทุกท่านเสมอ
ดังนั้น ข้าพเจ้าขอสรุปบทความนี้ด้วย “คำขวัญวันครูคำสอนไทย”   ซึ่งพระสังฆราชวีระ อาภรณ์รัตน์    ประมุขสังฆมณฑลเชียงใหม่และประธานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม   แผนกคริสตศาสนธรรม สภาพระสังฆราชฯ ได้กล่าวไว้ในสารคำสอน ปีที่ 22 ฉบับที่ 51  วันที่ 16 ธันวาคม 2553  (โอกาสวันครูคำสอนไทย)  ว่า   “ครูคำสอน เป็นบุคลากรสำคัญกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าท่านจะเป็นครูคำสอนเต็มเวลา ครูคำสอน (บางเวลา) ในโรงเรียน ในเขตวัด และครูคำสอนอาสาสมัคร       พี่น้องพระสงฆ์และนักบวช ควรส่งเสริมกระแสเรียกครูคำสอนเหมือนอย่างที่ท่านได้รับการส่งเสริม โปรดคัดเลือกเยาวชนให้รับการอบรมเป็นครูคำสอน ในโรงเรียน และในสังฆมณฑลของตน จะได้มีทายาทครูคำสอนปฏิบัติหน้าที่สืบไป ท่านควรจัดการพบปะ ภาวนา ร่วมมิสซา เยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ และฟื้นฟูจิตใจ แก่ครูคำสอนเป็นพิเศษ เพราะพวกเขาเป็นฆราวาส มีครอบครัว ต้องการความเข้าใจ กำลังใจ การให้เกียรติ และความเอาใจใส่จากพระศาสนจักร เพื่อร่วมงานกับเรา พ่อขอขอบใจที่ท่านเลือกและสมัครใจเป็นครูคำสอน ขอพระเป็นเจ้าโปรดอวยพรให้ท่านกล้าเป็นครูคำสอนแบบอย่างที่ดีแก่เด็กและ เยาวชนยุคปัจจุบัน” 
               ในเมื่อ “ครูคำสอนเป็นกระแสเรียกหนึ่ง” ที่ถูกเรียกมาเพื่อร่วมงานและติดตามองค์พระเยซูเจ้าเปรียบเสมือนเป็นประกาศก ครูและผู้อบรมสั่งสอน ประกาศข่าวดีของพระองค์ และอุทิศตนเพื่อพระศาสนจักรแล้ว
ท่านล่ะ “คิดว่าครูคำสอนสำคัญหรือไม่”

คณะศาสนศาสตร์ สาขาคริสตศาสนศึกษา

คณะศาสนศาสตร์ สาขาคริสตศาสนศึกษา
วิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย และเป้าประสงค์ 


 

วิสัยทัศน์ (VISION)
          คณะ ศาสนศาสตร์ วิทยาลัยแสงธรรม เป็นศูนย์ค้นคว้าและวิจัยศาสนาคริสต์ มุ่งผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้นำ มีความเข้าใจในวัฒนธรรมเป็นแบบอย่างที่ดีด้าน คุณธรรม จริยธรรม ในการอภิบาลแพร่ธรรม และการอุทิศตนรับใช้พระศาสนจักร
พันธกิจ (MISSION)
  1. พัฒนาหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอน ตามแนวคิดคริสตศาสนาอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. พัฒนาและเสริมสร้างบุคลากรให้มีคุณธรรม จริยธรรม และเป็นแบบอย่างที่ดีในการอภิบาลและการ แพร่ธรรม
  3. ส่งเสริมการค้นคว้าและวิจัยศาสนาคริสต์และเนื้อหาต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันในศาสนา
นโยบาย (POLICY)
  1. พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องเป็นระบบโดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
  2. ส่งเสริมการใช้สื่อเทคโนโลยี นวัตกรรม ตำราที่ทันสมัยและเอื้อต่อการเรียนรู้
  3. สนับสนุนการแสวงหาความรู้ และการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นผู้นำ และให้บริการแก่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
  4. ส่งเสริมให้บุคลากรและนักศึกษาร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น ในการพัฒนาด้านจิตใจด้วยกระบวนการที่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันปัญหาของท้องถิ่น
  5. ส่งเสริมให้รู้จักการใช้สิทธิและหน้าที่พลเมืองที่ดีของชาติ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมดำรงไว้ซึ่งความเป็นไทย
  6. เสริมสร้างให้บุคลากรและนักศึกษามีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันและต่อสถาบันการศึกษาอื่น บนพื้นฐานของการให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน
เป้าประสงค์ (GOALS)
  1. มีหลักสูตร และกระบวนการเรียนการสอนตามแนวคิดคริสต์ศาสนา ที่มีประสิทธิภาพ
  2. บุคลากรทุกคนมีการพัฒนาตนเองให้มีคุณธรรม จริยธรรม และเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านอภิบาลและการแพร่ธรรม
  3. เป็นศูนย์รวมผลงานวิจัย โดยให้บริการและเผยแพร่ต่อสาธารชนที่สนใจศึกษา
คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์
  1. มีความรู้ ความเข้าใจคำสอนทางศาสนา
  2. มีความรู้คู่คุณธรรม
  3. ดำเนินชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย
  4. มีความเป็นผู้นำทางศาสนา
  5. ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์
  6. มีความเสียสละ อุทิศตนในการทำงานเพื่อรับใช้ พระ ศาสนจักรและสังคม
  7. ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรมของศาสนา
  8. ดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คริสตชนและบุคคล ทั่วไป
  9. อบรม สั่งสอน แนะนำ การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามหลักคำสอนของศาสนา