วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

บันทึกการเดินทางฟื้นฟูจิตใจครูคำสอนศิษย์เก่า ครั้งที่ 6


บันทึกการเดินทางฟื้นฟูจิตใจครูคำสอนศิษย์เก่า ครั้งที่ 6
จาริกแสวงบุญเส้นทางแห่งความเชื่อบุญราศีแห่งสองคอน
สาขาวิชาคริสตศาสนศึกษา วิทยาลัยแสงธรรม



โครงการฟื้นฟูจิตใจครูคำสอนศิษย์เก่าของสาขาวิชาคริสตศาสตร์ ครั้งที่ นี้ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23-25 พฤษภาคม 2556 ณ สักการสถานพระมารดาแห่งบุญราศีสองคอน   จ.มุกดาหาร โดยสาขา วิชาคริสตศาสนศึกษา คณะศาสนศาสตร์ วิทยาลัยแสงธรรม โดยมีบาทหลวงธรรมรัตน์ เรือนงาม อาจารย์ทัศนีย์ มธุรสสุวรรณ  และอาจารย์สุดหทัย นิยมธรรม เป็นที่ปรึกษาและผู้ดำเนินงาน โดยการฟื้นฟูจิตใจครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ ฟื้นฟูชีวิตจิตครูคำสอนให้เข็มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานคำสอนและการแพร่ธรรม และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และเพื่อผู้ให้การอบรมสามารถติดตามศิษย์เก่าครูคำสอนของสาขาวิชาฯ นี้ด้วย



การเดินทางจาริกแสวงบุญเส้นทางแห่งความเชื่อบุญราศีแห่งสองคอน มีครูคำสอนศิษย์เก่าฯ     รุ่นที่   1-9  จำนวน 20 คนเข้าร่วมโครงการ การเดินทางจาริกเริ่มต้นที่วิทยาลัยแสงธรรม โดยจุดหมายปลายทางของเราอยู่ที่สักการสถานพระมารดาแห่งบุญราศีสองคอน จ.มุกดาหาร เราออกทางจากวิทยาลัยแสงธรรม  ในเวลา 09.15 น. จากนั้นไปแวะรับศิษย์เก่า ที่วังน้อย และแวะทานข้าวที่ ร้านข้าวแกงบ้านสวน วังน้อย จ.อยุธยา เวลา 12.00 น. เราออกเดินทางสู่ภาคอีสาน โดยแวะทานอาหารเย็นที่ อ.เมือง จ.ยโสธร ตลอดระยะการเดินทางที่ยาวไกล เราได้สวดสายประคำ และพูดคุยแบ่งปันชีวิต การทำงาน แก่กันและกัน ทำให้การเดินทางไกลวันนี้เต็มไปด้วยความหมายและสนุกสนาน ที่สุดแล้ว เราไปถึงสักการสถานพระมารดาแห่งบุญราศีสองคอน ในเวลาประมาณ 21.00 น.

เช้าวันศุกร์ที่ 24  พฤษภาคม 2556 หลังจากรับประทานอาหารเช้า เราเริ่มต้นการฟื้นฟูจิตใจด้วยการภาวนาทำวัตรเช้าร่วมกันโดย คุณครูชลธิชา  กิจเต่ง ศิษย์เก่ารุ่นที่ 4  จากนั้นคุณครูกฤติยา อุตสาหะ ประธานศิษย์เก่าฯ  ได้แนะนำศิษย์เก่าแต่ละรุ่น ให้ทุกคนได้รู้จักกันมากขึ้น
จากนั้นเวลา 09.00 น. เราเริ่มการฟื้นฟูจิตใจโดยฟังการบรรยายในหัวข้อ บุญราศีแห่งสองคอนแบบอย่างแห่งความเชื่อโดยคุณพ่อ จีระศักดิ์ อุ่นหล้า คุณพ่อได้เริ่มต้นการบรรยายด้วยพระจาวาจาจดหมายของนักบุญยากอบ 2:17 ที่ว่า “ความเชื่อก็เช่นเดียวกัน หากไม่มีการกระทำ ก็เป็นความเชื่อที่ตายแล้ว” แต่ความเชื่อที่มีชีวิต ก็คือความเชื่อที่มีกิจการ ดังเช่นแบบอย่างความเชื่อที่มีชีวิตของบุญราศีทั้ง 7 ท่าน พ่อเล่าถึงประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านสองคอน และความเป็นมาของการเบียนเบียนคริสตศาสนาศาสนาในประเทศไทยให้เราฟังว่า
บ้านสองคอนเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ชาวบ้านอพยพมาจาก จากบ้านน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม มาทำไร่ทำนาอยู่ที่บริเวณบ้านสองคอน ซึ่งชื่อว่าสองคอน นี้มาจากภูมิประเทศในลำน้ำโขงตรงบริเวณบ้านสองคอนนั้นมีแก่งหรือโขดหินกลางแม่น้ำ และในแก่งนั้นมีร่องน้ำลึกซึ่งเรือผ่านได้สองร่อง และตามภาษาท้องถิ่นเรียกร่องน้ำนี้ว่าคอน เนื่องจากมีสองร่องหรือสองคอน จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านสองคอน  เมื่อตั้งหมู่บ้านได้ไม่นาน พวกที่มาตั้งหลักแหล่งก็เริ่มระส่ำระสายเพราะเป็นไข้ไม่สบาย ต่างพูดกันว่าคงเป็นเพราะผีดุหรือเจ้าที่ไม่พอใจ แต่เมื่อได้เซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทางแล้วก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเลย ขณะกำลังหมดหวังและคิดจะอพยพหนีอยู่นั้นก็บังเอิญได้ยินข่าวว่ามีมิชชันนารี ฝรั่งซึ่งไม่กลัวผีและมียาดี จึงได้ปรึกษากันและได้เชิญมิสชันนารีมาปราบผีที่หมู่บ้าน และประวัติศาสตร์พระศาสนจักรในภาคอีสาน คนที่มาสอนคำสอนและเผยแพร่ศาสนาที่บ้านสองคอนคือ คุณพ่อซาเวียร์ เกโก ท่านมาถึงสองคอน ในปี ค . ศ .1887 ( พ.ศ. 2430) เพราะคุณพ่อนำยามาช่วยเหลือชาวบ้าน พวกเขาจึงรู้สึกว่าไม่มีผีอีก สองคอนจึงเป็นที่หลบภัยของชาวบ้าน 4 กลุ่ม คือ ชาวบ้านอพยพมาจาก จากบ้านน้ำก่ำ พวกที่ถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน ที่ชาวบ้านเรียกว่าผีปอบ พวกทาสที่คุณพ่อไถ่มา และพวกที่อพยพมาจากฝั่งลาว ทำให้สองคอนขยายตัวขึ้น
ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังมีกรณีพิพาทเรื่องดินแดนกับฝรั่งเศส จึงเป็นช่วงเวลาที่ชาวไทยส่วนใหญ่เครียดแค้นชิงชังฝรั่งเศส  เนื่องจากฝรั่งเศสใช้ความเป็นมหาอำนาจของตนยึดครองดินแดนของไทยไปเป็นของ ประเทศอินโดจีนในอาณัติของฝรั่งเศส   ทำให้ไทยต้องเสียดินแดน3 จังหวัด คือ ศรีโสภณ เสียมราช และพระตะบอง โบสถ์หลายแห่งถูกปิดและถูกทำลาย  ก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อชาวไทยคาทอลิกทั่วไป  ทำให้ชาวไทยพุทธ เกลียดชังศาสนาของฝรั่งเศส ทำให้เกิดการเบียดเบียนศาสนาขึ้น ทางราชการได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปประจำตามหมู่บ้าน  ตำรวจลือ บุญโค่น ได้เริ่มเบียดเบียนชาวบ้าน เช่น เรียกชาวบ้านมาประกาศให้เลิกนับถือศาสนาคริสต์  
ครูสีฟอง ฟิลิป สีฟอง อ่อนพิทักษ์ เคยเป็นเณร ที่บ้านเณรบางช้าง ท่านมาถึงสองคอนประมาณปี ค.ศ. 1926 ครูสีฟองเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านทุกคน นอกจากจะสอนเรียนแล้ว ท่านยังสอนให้ชาวบ้านรู้จักตัดเย็บเสื้อผ้า  ช่วยดูแลวัด  ตลอดจนสอนคำสอน  ท่านถูกห้ามไม่ให้สอนคำสอน และให้ละทิ้งศาสนาคาทอลิก แต่ครูสีฟองไม่ยอมละทิ้งศาสนาและยังคงสอนคำสอนต่อไป พวกตำรวจจึงคิดอุบายขึ้น บอกครูสีฟองให้ไปพบนายอำเภอ จากนั้น ท่านจึงถูกยิง เป็นมรณสักขีองค์แรก เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.1940 ต่อมาตำรวจ ให้ผู้ใหญ่บ้านมาตามซิสเตอร์ไปพบที่วัดเมื่อพบกัน   ตำรวจถามซิสเตอร์ว่าได้ละทิ้งพระเจ้า ทิ้งศาสนาแล้วหรือยัง?” ซิสเตอร์ทั้งสองตอบว่า ไม่มีวัน จะไม่มีวันทิ้งพระเจ้าโดยเด็ดขาดตำรวจจึงประกาศว่าว่า เมื่อไม่ทิ้งพระเจ้า ไม่กลัวตาย ให้ทุกคนไปที่แม่น้ำโขงเดี๋ยวนี้ ซิสเตอร์อักแนส พิลา แย้งว่า จะไม่ไปที่แม่น้ำโขง ถ้าจะฆ่าพวกเราขอให้ไปฆ่าที่ป่าศักดิ์สิทธิ์ (คือป่าช้าของวัด)ได้ ออกเดินทางมุ่งไปยังป่าศักดิ์สิทธิ์    ทุกคนเดินไปพร้อมกับสวดภาวนาและร้องเพลงไปด้วย ไม่มีการสะทกสะท้านใด ๆ พวกตำรวจ แบกปืนเดินตามไปห่างๆ ขณะที่คณะผู้ยอมพลีชีพทั้ง 8 คน กำลังเดินอยู่ นายกองสี บิดาของน.ส.สุวรรณ สงสารบุตรสาวของตน รีบตามมาพาตัวกลับบ้าน บอกว่ายังไม่ถึงเวลาไปตาย ด.ญ.เซซีลีอา สอน ว่องไว ผู้อยู่ในคณะผู้ยอมพลีชีพเล่าว่า  เมื่อถึงป่าศักดิ์สิทธิ์เห็นขอนไม้ใหญ่ล้มทอดอยู่ต้นหนึ่ง ซิสเตอร์อักแนส พิลาพูดว่า  “ขอนไม้นี้แหละเหมาะดี พวกเราอาศัยขอนไม้นี้เป็นที่คุกเข่าสวดก่อนตายกันเถิดทุกคนคุกเข่าลงข้าง ขอนไม้เรียงกันไปตามลำดับสเตอร์อักแนส  พิลา,   ซิสเตอร์ลูซีอา คำบาง, แม่พุดทา, น.ส.บุดสี, น.ส.คำไพ, ด.ญ.พร, ด.ญ.สอน อยู่ริมในสุด แล้วสวดพร้อมกัน เมื่อพวกตำรวจมาถึง ตำรวจบอกให้คณะของซิสเตอร์เตรียมตัว แล้วเริ่มยิงทางด้านหลังทันที แต่ปืนไม่ลั่น จึงเปลี่ยนมายิงทางด้านหน้า แต่ปืนไม่ลั่นอีก ตำรวจจึงเปลี่ยนเอาปืนจากตำรวจอีกนายหนึ่งขึ้นมายิง เสียงปืนลั่นขี้น  พวกตำรวจยิงประมาณ 20 นัด เข้าใจว่าทุกคนตายแล้วจึงเดินกลับที่พัก นายสาลีเข้าไปดูเห็นถูกกระสุนปืน 6 คน ด.ญ.สอนคนเดียวไม่ถูกกระสุนปืน มีบันทึกเล่าถึง คำพูดของซิสเตอร์อักแนสกับแม่ของบุญราศีบุดดีที่ว่า คิดดูซิ เราหว่านข้าว 1 กระบุง เมื่อถึงเวลาเราเก็บเกี่ยว เราเก้บเกี่ยวได้หลายกระบุง ดังนั้นถ้าเราตายคนหนึ่งก็จะมีคนมาเข้าศาสนาเรามากมาย คำพูดนี้ปลุกใจให้คริสตชนหลายคนไม่กลัวตาย และที่เมื่อ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1989 พระสันตะปาปาจอห์น  ปอลที่ 2 ได้ยกย่องคริสต์ชนชาวไทยทั้ง 7 ให้เป็น บุญราศี ทั้ง 7 แห่งสองคอน
สุดท้าย คุณพ่อให้ข้อคิดว่าสั้น ๆ 2 ข้อคือ  ความเชื่อของเรานั้นอยู่ในแผนการของพระเจ้า และความเชื่อที่ไม่ได้รับการทดลองก็เป็นความเชื่อที่ตายแล้ว ดังนั้นให้เรามองแบบอย่างของบุญราศีแห่งสองคอน เป็นแบบอย่างความเชื่อของเรา 


จากนั้นเวลา 10.30 น. เราได้รับศีลอภัยบาปและร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ โดยคุณพ่อธรรมรัตน์ เรือนงาม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นประธาน คุณพ่อได้ให้ข้อคิดจากหนังสือบุตรสิราแก่เราว่า
วาจาสุภาพส่งเสริมอัธยาศัยไมตรี มีมิตรมากไว้เป็นการดี, มิตรสหายซื่อสัตย์เป็นที่ปกป้องแข็งแรง ใครพบมิตรเช่นนี้ก็เหมือนได้พบสมบัติ มิตรสหายซื่อสัตย์หาค่ามิได้ ไม่มีมาตรใดวัดค่าของเขาได้ มิตรสหายซื่อสัตย์เป็นเสมือนยาอายุวัฒนะ
ให้เราคิดถึงพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงเป็นมิตรแท้ของเรา คนที่อยู่เคียงข้างเราเสมอ เป็นเพื่อนที่ไม่ทอดทิ้งเรา และยอมตายเพื่อเรา ให้เราทบทวนความเชื่อในชีวิตของเรา ในรูปแบบของการเป็นครูคำสอน ความเชื่อจำเป็นต้องถูกทดลอง ถ้าไม่ถูกทดลองก็เป็นความเชื่อที่ตายแล้ว แน่นอนในชีวิตการเป็นครูคำสอนของเราต้องผ่านการทดลอง เราต้องเสียสละสิ่งใดอยู่เสมอ ก็ให้เราขอความเชื่อจากพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นเพื่อนแท้ของเรา และเรา ในฐานะที่เราเป็นผู้นำทางความเชื่อ และให้เราเป็นความหวังและกำลังใจแก่กันและกัน ด้วยการเปิดใจของเรา ให้ความรัก มิตรภาพ กำลังใจ การให้อภัย แล้วเราจะเป็นต้นแบบชีวิตให้กับคนอื่น ๆ อย่างมีคุณค่า”
หลังจาการรับประทานอาหารเที่ยง เราได้เดินชมบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ บ้านไม้ของบุญราศี  และรับฟังการแบ่งปันประสบการณ์การทำงานด้านคำสอนของศูนย์คริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง โดย...คุณพ่อพงศ์ศิระ คำศรี  ผู้อำนวยการศูนย์ฯ  และทีมงาน โดยคุณพ่อได้แบ่งปันประสบการณ์ไปเรียนต่อที่ฟิลิปปินส์ ความยากลำบากต่างๆ แต่พ่อก็ไม่ท้อ และพ่อก็สวดภาวนาอยู่เสมอ พ่อให้ข้อคิเเตือนใจแก่เราว่า 
ในการทำงานเราต้องพบเจอคนหลายประเภท ให้เราเปิดใจยอมรับความแตกต่าง แล้วเราจะสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือ ให้เราแบกกางเขนของเราทุกวัน กางเขนที่เหมาะสม และเพียงพอต่อพละกำลังของเรา ให้เรายอมรับพระเยซูคริตเจ้า เป็นแบบอย่างของเรา แล้วงานก็จะไม่เป็นงานหนักของเรา และที่สำคัญการยอมรับความแตกต่าง ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น แม้ว่าเราจะมีความคิดเห็นของเราเอง แต่การยอมรับกันและกันเป็นสิ่งที่ดี แล้วเราทุกคนจะเป็นหนึ่งเดียวกัน                                  
                            


ต่อมาเซอร์อังเจลิน ผิวเกลี้ยง ผู้อำนวยการ ศูนย์คริสตศาสนธรรมเซนต์ปอลสองคอน และคณะได้มาแบ่งปันการทำงานของศูนย์ มีการแนะนำสมาชิกของศูนย์ และนำเสนองานของศูนย์ซึ่งทำให้เราได้เห็นถึงบทบาทของการเป็นครูสอน และแบบอย่างของครูคำสอนที่นี่ และเซอร์อังเจลินร์ได้ให้ข้อคิดที่สำคัญกับเราว่า
งานที่เราทำไม่ว่างานใหญ่ หรืองานเล็ก นั้นไม่สำคัญ เพระงานทุกงาน คือ งานของพระ ให้เราไม่ลืมความสำคัญตรงนี้ และเราทุกคนนั้นก็เป็นเครื่องมือของพระองค์ ซึ่งเครื่องมือนี้มิได้มีไว้ตีกัน แต่มีไว้เพื่อให้เราร่วมเป็นเครื่องมือของพระองค์
             พร้อมกันนี้เซอร์ได้มอบของที่ระลึกให้พวกเราด้วย เป็นพัดที่มีรูปของบุญราศีทั้ง 7 หนังสือขัดเงาใจ และลูกอมสมุนไพรย่ายิ้มแก่เราด้วย
ในภาคบ่ายเราเดินทางไปตลาดอินโดจีน และทานอาหารเย็นที่นั่น ระหว่างเดินทางกลับมีการสวดสายประคำร่วมกันบนรถ จากนั้นเวลา 19.30 น. เป็นช่วงเวลาของการสร้างความสัมพันธ์ แบ่งปัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์แก่กันและกัน โดยเริ่มต้นจากอาจารย์ทัศนีย์ มธุรสสุวรรณ เกี่ยวกับหนังสือคำสอนชุดชีวิตคริสตังบูรณาการวิถึชุมชนวัด (BEC) คอร์สการอบรมด้านพระคัมภีร์ (Blibliodrama)
หลังจากนั้นคุณกฤติยา อุตสาหะ ประธานครูคำสอนศิษย์เก่าฯ ได้ประชาสัมพันธ์งานของศิษย์เก่า และปรึกษากันในการตั้งกองทุนครูคำสอนศิษย์เก่าฯ เพื่อเป็นกองทุนสนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมกระแสเรียกและจิตตารมณ์ของครู คำสอน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างครูคำสอนศิษย์เก่าฯ นอกจากนี้ได้ประชาสัมพันธ์การเปิด เวปบล็อก ศิษย์เก่าคริสตศาสตร์เพื่อการติดต่อสื่อสาร สร้างความสัมพันธ์ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
             โดยศิษย์เก่าฯ ทุกรุ่นสามารถส่งข่าวสารได้ที่ club.catechesis@gmail.com และได้ปรึกษาเกี่ยวกับการจัดการฟื้นฟูจิตใจฯในครั้งต่อไปโดยมอบให้คณะ กรรมการผู้แทนครูคำสอนศิษย์เก่าฯ ได้พิจารณาในการประชุมร่วมกันต่อไป
จากนั้นมีกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ และสังสรรค์ศิษย์เก่า และแลกเปลี่ยนของขวัญ  เพื่อเป็นของที่ระลึกแก่กันและกัน จากนั้นคุณพ่อธรรมรัตน์ได้มอบของที่ระลึกเป็นสร้อยคอ เสก และอวยพรพวกเรา ก่อนที่เราจะแยกย้ายกันไปพักผ่อน









เช้าวันเสาร์ที่ 25  พฤษภาคม 2556 หลังจากรับประทานอาหารเช้า เราออกเดินทางไปวัดอัครเทวดามีคาแอล บ้านซ่งแย้ จ.ยโสธร (โบสถ์ไม้มหัศจรรย์) และได้รับการต้อนรับจาก คุณพ่อบุญเลิศ  พรหมเสนา โดยคุณพ่อได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของ  วัดอัครเทวดามีคาแอล การบูรณะวัด ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาวบ้าน จากนั้นคุณพ่อ ได้เป็นประธานพิธีบูชาขอบพระคุณ และให้ข้อคิดเตือนใจเราจากพระวรสาร ของนักบุญมัทธิว 18.1:5 กับเราว่า


“พระเยซูจึงทรงเรียกเด็กเล็กๆคนหนึ่งมาให้อยู่ท่ามกลางเขา แล้วตรัสว่า "เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าพวกท่านไม่กลับใจเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ ท่านจะเข้าในอาณาจักรแห่งสวรรค์ไม่ได้เลย เหตุฉะนั้น ถ้าผู้ใดจะถ่อมจิตใจลงเหมือนเด็กเล็กคนนี้ ผู้นั้นจะเป็นใหญ่ที่สุดในอาณาจักรแห่งสวรรค์ ถ้าผู้ใดจะรับเด็กเล็กเช่นนี้คนหนึ่งในนามของเรา ผู้นั้นก็รับเรา  
ดังนั้น สำหรับเรากับพระเจ้า เราต้องกลับไปเป็นเหมือนเด็กเล็ก ๆ เด็กเล็ก ๆ เมื่อมีปัญหา เขามักจะเข้าไปหาพ่อกับแม่ แต่เราทุกวันนี้มักเอาแต่ใจตนเอง อย่าเป็นเหมือนคนที่โตแล้ว ที่มักจะจองหอง เอาแต่ใจตนเอง ชีวิตเราจะมั่นคงได้ต้องเรียกหาพระอยู่เสมอและบ่อย ๆ เหมือนกับเด็กเล็ก ๆ
               
หลังจากนั้นเราได้เขียนสิ่งที่เราต้องการให้เพื่อนภาวนาให้ และแลกเปลี่ยนกัน และสัญญาตลอดปีนี้เราจะภาวนาให้เพื่อนคนนั้นเป็นพิเศษ ต่อมารับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน โดย  สนับสนุนโดยคณะภคินีรักกางเขนแห่งอุบลราชธานี จากนั้นเราเวลาประมาณ 13.00 การเดินทางกลับบ้านก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง แต่ความรู้สึกหนึ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือความประทับใจ และกำลังใจดีๆ ที่เราได้รับจาการมาฟื้นฟูจิตใจในครั้งนี้จะเป็นเหมือนพลังให้เราก้าวต่อไป ในฐานะผู้นำทางความเชื่อ เครื่องมือที่ดีในงานของพระองค์ต่อไป

ในโอกาสนี้ศิษย์เก่าคณะคริสตศาสตร์ทุกคน ขอขอบคุณวิทยาลัยแสงธรรม ที่สนับสนุนในการจัดโครงการฟื้นฟูจิตใจฯ ในครั้งนี้เป็นอย่างดี ขอขอบคุณสักการสถานพระมารดาแห่งบุญราศีสองคอน และศูนย์คริสตศาสนธรรมเซนต์ปอลสองคอนที่ให้บริการเรื่องที่พัก อาหาร  และการต้อนรับ ขอขอบคุณวิทยากรทุกท่าน และขอขอบคุณทุกท่านที่มีอุปการคุณต่อการจัดทำโครงการฯนี้ให้สำเร็จลุล่วงไป ด้วยดี
      ขอขอบพระคุณ
นางสาวกฤติยา  อุตสาหะ
ประธานครูคำสอนศิษย์เก่าฯ

ไม่มีความคิดเห็น: